ข่าวประชาสัมพันธ์

สทน. เปิดห้องปฏิบัติการทางนิวเคลียร์และรังสีต้อนรับนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร สืบเนื่องจากการทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

23 กุมภาพันธ์ 2566

สทน. เปิดห้องปฏิบัติการทางนิวเคลียร์และรังสีต้อนรับนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร

                สืบเนื่องจากการทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยทั้งสองหน่วยงานจะศึกษาวิจัย และนำ เพื่อยกระดับความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์โบราณวัตถุชิ้นพิเศษและองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุและวัสดุเพื่องานอนุรักษ์ การศึกษาระบบการจัดการน้ำในอดีตของชุมชนโบราณ การวิเคราะห์ตัวอย่างจากการขุดค้นเพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาโครงสร้างภายในวัตถุโดยใช้รังสี เป็นต้น ซึ่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ สามารถสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของชาติไทยในอีกมิติหนึ่งผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมในระดับสากล โดยปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจหาอายุของโบราณวัตถุเพราะเป็นเทคนิคที่ไม่ทำลายตัวอย่างหรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน.จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสีและใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมากว่า 10 ปี สำหรับเทคนิคที่สทน.ใช้ในการวิเคราะห์มี 2 แบบ คือ การวิเคราะห์โดยอาศัยคาร์บอน-14(C-14 dating) และการวิเคราะห์อายุโดยการเรืองแสงความร้อน(TL/OSL dating) ในโอกาสที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้จัด “โครงการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานทางโบราณคดีด้านการจัดเก็บตัวอย่างทางโบราณคดีเพื่อกำหนดอายุและการศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์” ซึ่ง สทน.มีงานวิจัยและห้องปฏิบัติการสำคัญที่สนับสนุนงานด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์

                  โดย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ประสานเรื่องการเยี่ยมชม และมี ดร.ศศิพันธุ์ คะวีรัตน์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และทีมนักวิจัยให้การต้อนรับ โดยมีบรรยายวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ในงานโบราณคดีได้แก่ เรื่อง 1.การถ่ายภาพด้วยรังสีนิวตรอน 2.การอนุรักษ์โบราณวัตถุด้วยการฉายรังสีและการเคลือบด้วยพอลิเมอร์ 3.กระบวนการฉายรังสีและประสิทธิภาพของรังสีในงานอนุรักษ์โบราณวัตถุ พร้อมนำชม ศูนย์ฉายรังสีที่คลอง 5 ปทุมธานี ซึ่งมีเครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่ที่อาจจะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติการหาอายุโดยวิธี คาร์บอน-14 และ OL/TSL งานตรวจสอบโดยไม่ทำลาย ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และศูนย์ไซโคลตรอน ซึ่งในอนาคตที่สามารถศึกษาวิจัยด้านองค์ประกอบธาตุของวัสดุต่างๆได้

ปัจจุบัน สทน.มีโครงการความร่วมมือกับ กรมศิลปากรในหลายๆ โครงการ อาทิ การวิเคราะห์เครื่องทองโบราณสมัยอยุธยา การศึกษาการไหลของน้ำในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ สด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว ตลอดจนให้บริการการตรวจหาอายุ ของโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น เป็นต้น